Thursday 9 October 2008

เมื่อเศรษฐกิจโลก...กระทบพรีเมียร์เร็วกว่าที่คิด!


เมื่อประมาณ 2 อาทิตย์ก่อนได้เขียน บทความเรื่อง XL และ AIG ที่ได้รับผลกระทบ จากวิกฤตการณ์ทางด้านการเงินครั้งใหญ่ ที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินในสหรัฐ และได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่าถ้าวันนึงหน่วยธุรกิจใน อุตสาหกรรมฟุตบอลซึ่งก็คือ สโมสรฟุตบอลโดนผลกระทบเข้าไป หน่วยงานที่รับผิดชอบจะมีแนวทางอย่างไร ในการรับมือกับปัญหาที่ว่านี้

พาดหัวข่าวใหญ่ของ นสพ.ที่ประเทศอังกฤษ ‘ไฮไลต์’ ยังคงหนีไม่พ้นเรื่องนี้ครับเพราะว่าล่าสุดกอร์ดอน บราวน์นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ออกมาสั่งอุ้มธนาคารยักษ์ใหญ่ในประเทศอย่าง รอยัลแบงก์ออฟสกอตแลนด์ (RBS) และเอชบีโอเอส (HBOS) โดยอัดฉีดเงินเข้าระบบธนาคารพาณิชย์ 8.7 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อหยุดยั้งวิกฤติแบงก์ล้มละลาย

Credit Crunch หรือ วิกฤติสินเชื่อที่ย่ำแย่ทำให้อังกฤษต้องร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในยุโรป อย่างไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ เบลเยียม สเปนรวมถึง "พี่ใหญ่" อย่างสหรัฐในการใช้มาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงินเพื่อช่วยแบงก์ ขนาดใหญ่ของประเทศไว้

สำหรับคำว่า "อุ้ม" ในที่นี้ ไม่ใช่แค่ให้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลปล่อยให้ธนาคารไปเอา จัดการปัญหากันเองนะครับ แต่มันหมายถึงการที่รัฐเข้ามาดำเนินการหรือคิดง่ายๆ ก็คือยึดอำนาจกิจการแบงก์ส่วนหนึ่งให้เป็นของรัฐเพื่อที่แบงก์ จะได้กลับมาทำงานได้ตามปกติและไหลลื่น เหมือนมีผู้ปกครองคอยควบคุมความประพฤติไปในตัว

ที่ไอซ์แลนด์ก็เช่นกัน ธนาคารแลนด์สแบงกิ (Landsbanki) ซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ ถูกรัฐบาลไอซ์แลนด์เข้ามาควบคุมกิจการ เรียบร้อยและบียอร์กอล์เฟอร์ กุ๊ดมุนส์สันประธานสโมสรเวสต์แฮมซึ่ง มีศักดิ์เป็นแชร์แมนอยู่ ก็โดนปลดและเสียการควบคุมไปตามระเบียบ พร้อมกับเครื่องหมายคำถามตัวเป้งว่า อนาคตและทิศทางของขุนค้อนจะเป็นเช่นไร?

หนี้ 30 ล้านปอนด์ ที่ต้องจ่ายให้ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ดจากกรณีพิพาทเรื่องของคาร์ลอส เตเบซ ที่ศาลตัดสินให้แพ้และต้องจ่ายค่าเสียหายให้ทีมดาบคู่, งบใช้จ่ายในตลาดนักเตะเดือนมกราคมที่จะมาถึง, สปอนเซอร์อย่าง XL ก็เพิ่งถอนตัว ฯลฯ

ซวยซ้ำซวยซ้อนและถือเป็นเรื่องน่าหวั่นใจแทนแฟนขุนค้อนและจิอันฟรังโก้ โซล่าอย่างแท้จริงครับ...
แล้วอุตสาหกรรมฟุตบอลต้องเจออะไรอีก จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ ? ข่าวล่าสุดที่คาดว่าน่าจะเห็นผ่านตากันไปแล้วก็คือ เดวิด ไทรส์แมนประธานเอฟเอเผยเรื่องสุดช็อกว่าวงการลูกหนังผู้ดีติดหนี้ท่วมกว่า 3 พันล้านปอนด์ ในการประชุม "ผู้นำในวงการฟุตบอล" (Leaders in Football) ที่สนาม สแตมฟอร์ด บริดจ์เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา


ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าก็คือ "ความโปร่งใส" ในการดำเนินการด้านการเงิน ที่สมาคมไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบเรื่องได้ ซึ่งน่ากลัวเหลือเกินว่าสโมสรที่มีประธาน เป็นนักลงทุนต่างชาติทั้งหลายจะทิ้งทีมไปหากจู่ เผ่นแน่บขึ้นมาสโมสรจะอยู่อย่างไร ? และไม่ล้มทั้งยืนตาม เลห์แมน บราเธอร์สยังไงไหว ?

"บรรดาธนาคารเจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้ให้สโมสรกำลัง เจอปัญหาอย่างหนัก มันทำให้คุณไม่สามารถกำหนดชะตาของตัวเองได้ สโมสรต่างๆ จะเริ่มเห็นผลกระทบจาก (วิกฤติที่เปรียบเสมือน) พายุเฮอร์ริเคนทีละน้อย มันขึ้นอยู่กับว่าใครจะสามารถเอาตัวรอด ภายใต้สถานการณ์เช่นนั้น" วาทะเด็ดที่หลุดจากปากเดวิด ไทรส์แมน ซึ่งตรงประเด็น และจี้ใจดำใครหลายคน โดยเฉพาะประธานสโมสรบางรายที่หวังจะเอาแต่ได้ อดีตท่านประธาน แมนฯซิตี้น่าจะเป็นตัวอย่าง ที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้

สถานการณ์ในตอนนี้ หลายฝ่ายอาจยังไม่ยอมรับความจริงเช่น ริชาร์ด สคูดามอร์ ประธานบริหารของพรีเมียร์ ลีก ที่ออกมาประกาศเชื่อมั่นว่าหนี้ของสโมสรต่างๆ สามารถบริหารจัดการได้และเอฟเอทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี พร้อมกันนี้ยังมองว่าสโมสรจะ เป็นผู้บริหารหนี้สินเองโดยที่องค์กรอย่าง เอฟเอ หรือ พรีเมียร์ไม่ควรเข้าไปก้าวก่าย

ประเด็นที่ ท่านลอร์ดไทรส์แมนออกมาพูดมุมนึงอาจจะเป็นการหาเรื่องเข้าตัว โดนคนในสมาคมเกลียดที่ปากไม่อยู่สุขที่เผยปัญหานี้ให้สื่อมวลชนทราบ ซึ่งเหมือนเป็นการลดความน่าเชื่อถือของพรีเมียร์ลีก และกระทบโปรเจกต์การลงทุนของพรีเมียร์ชิพในอนาคต (อย่างน้อยๆ ก็นายสคูดามอร์หนึ่งคนแหละที่ไม่พอใจ)
อย่างไรก็ดี ผมกลับมองว่า "ความจริง" แม้เป็นสิ่งที่ไม่น่าพิสมัย แต่ความจริงก็คือความจริงและวันนึงเราก็ต้องยอมรับมัน จะช้าจะเร็วพรีเมียร์ก็ต้องเจอเอฟเฟกต์จาก วิกฤติการณ์ด้านการเงินที่จะกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก


องค์กรและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็ต้องแสดงจุดยืนให้ชัดเจน และอย่าแกล้งโง่หรือเพิกเฉยถึง "วิกฤติ" ที่เริ่มแสดงให้เห็นแล้วกับสโมสรฟุตบอลอย่างเช่น ลิเวอร์พูลที่ต้องเลื่อนการสร้างสนามออกไป เวสต์แฮมที่ต้องขายนักเตะก่อนซื้อเข้ามาหรือ นิวคาสเซิลที่จนป่านนี้ก็ยังไม่มีนายทุนคนไหนกล้าตัดสินใจเทกโอเวอร์ต่อจากไมค์ แอชลีย์

ตอนนี้ วงการฟุตบอลอังกฤษกำลังต้องการ ใครสักคนที่ยืดอกแมน ๆ อย่างท่านลอร์ดไทรส์แมน แสดง "ความรับผิดชอบ" และเตรียมรับมือกับ "ปัญหา" นี้อย่างจริงจังครับ

1 comment:

Anonymous said...

ขอบคุณมาก ๆ นะครับ สำหรับบทความดีๆ