Thursday 30 October 2008

The Beautiful Game is over

สภาพอากาศที่ลอนดอนช่วงนี้หนาว สุดขั้วอย่างไม่มีเหตุผลบอกกล่าวกันล่วงหน้าครับ หิมะตกโปรยปรายหน้าตาเฉยตอนเที่ยงคืน วันอังคารทั้งๆที่ตอนเที่ยงวันแดดยังออกเปรี้ยง ! จะป่วยเอาครับเจออากาศเพี้ยนๆแบบนี้....

ขณะที่ปั่นต้นฉบับนี้อยู่ (เช้าวันพุธ) นั่งตัวร้อนรุ่มเหมือนไข้หวัดกำลังจะมาเยือนผมอีกครา ครับหลังจากโหม อ่านหนังสือเตรียมสอบกลางภาคอย่างหนัก + ทำงานจนดึกดื่นเวลาพักผ่อนช่วงนี้น้อยเหลือเกิน ยังไงถ้าข้อเขียนผมช่วงที่ผ่านมาออกเหวอๆ ไปบ้างก็ขออภัยด้วยนะครับ

นั่งเปิดเว็บหาข่าวเพื่อจับประเด็นมาเล่าสู่กันฟังก่อน ที่ผมจะออกไปเอมิเรตส์ สเตเดี้ยมเพื่อชม "ลอนดอนดาร์บี้" แมตช์ระหว่างอาร์เซนอล VS สเปอร์สช่วงหัวค่ำ ก็บังเอิญไปเจอหัวข้อข่าวกรอบเล็กๆของหนังสือพิมพ์ "การ์เดี้ยน" เกี่ยวกับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำของพนักงานในสโมสรชั้นที่ได้รับน้อยจนน่าตกใจ

ตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ "ค่าแรงขั้นต่ำสุด" ของพนักงานรายวันคือ 5.52ปอนด์/ชั่วโมง (ก่อนหัก Tax) ล่าสุดผลการสำรวจจาก The Fair Pay Network พบว่าพนักงานทำความสะอาด พ่อครัวแม่ครัวหรือเด็กเสิรฟ์ใน Canteen ของสโมสรชั้นนำในเมืองหลวงสุดศิวิไลซ์อย่างลอนดอนทั้งเชลซี สเปอร์ส อาร์เซนอล เวสต์แฮมหรือฟูแล่มต่างพร้อมใจกันจ่ายค่าแรงให้สตาฟฟ์พวกนี้เทียบเท่าหรือเกินขั้นต่ำไป นิดหน่อยซึ่งถือจุ๋มจิ๋มมากหากเทียบกับรายรับมหาศาลของทีมเหล่านี้ในแต่ละปี !

ข้อมูลของมูลนิธิการกุศลอย่าง Joseph Rowntree Foundation พบว่าประชาชนในอังกฤษที่อยู่ด้วยตัวคนเดียวไม่มีภาระ ครอบครัวจะต้องรับรายได้จากการทำงานขั้นต่ำ(Living wage)ก่อนหักภาษี 7.45 ปอนด์ต่อชั่วโมง(ในลอนดอน) และ6.80 ปอนด์(นอกลอนดอน) หรือประมาณ13,400 ปอนด์ต่อปี ถึงจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำในการดำรงชีพและหากมีคู่และมีลูกสองคนนั้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายถึง 370 ปอนด์ต่อสัปดาห์
นักฟุตบอลแข้งทองค่าเหนื่อยเป็นแสนปอนด์ต่อวีก, รายรับCEOฟุตบอลอย่างขี้หมูขี้หมาของก็แตะหลักล้านปอนด์ต่อปี (ปีเตอร์ เคนย่อน/1.9m เดวิด กิลล์/1.48m ริค แพร์รี่/1.12m)หรือริชาร์ด สคูดามอร์ ซีอีโอของพรีเมียร์ลีกเองรายรับก็ไม่น่าจะทิ้งกันเท่าไร

จากภาพรวมเราจะเห็นได้ว่ารายได้ของนักเตะและบอร์ดบริหารช่างต่างกันราวฟ้ากับเหวเมื่อเทียบ กับรายรับต่อชั่วโมงอันน้อยนิดของแรงงานตาดำๆในสโมสรซึ่งก็เหนื่อยไม่แพ้กัน พวกรวยอยู่แล้วก็รวยเอาๆส่วนพวกที่อยู่ข้างล่างก็อดมื้อกินมื้ออย่างนั้นหรือ...

ความยุติธรรมอยู่ตรงไหน ??

จะว่าไม่มีเงินจ่ายก็ไม่ใช่เพราะ "พรีเมียร์ลีก" ถือเป็นแบรนด์ระดับโลกซึ่งกระแสเงินที่ไหลเข้ามาหล่อเลี้ยงกว่า 1.9 พันล้านปอนด์เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา ถือว่าเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี อันเนื่องมาจากการขายตั๋วที่เพิ่มขึ้น, รายได้จากสปอนเซอร์ รวมถึงการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดไปทั่วโลก

ครับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและรับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้อย่างบอริส จอห์นสันนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนก็ไม่ได้อยู่เฉยเพราะต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ร่างจดหมายถึง 5 สโมสรชั้นนำในลอนดอนเพื่อออกกฎบังคับให้สโมสรฟุตบอลเป็นตัวอย่างของ องค์กรที่ดีด้วยการเริ่มจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 7.45 ปอนด์ต่อชั่วโมง

รู้มั้ยครับฟีดแบ็กเรื่องนี้เป็นอย่างไร ? โฆษกอาร์เซนอลออกมาแถลงการณ์ว่า "สโมสรได้ดำเนินการจ่าย London Living wage ตามคำสั่งของท่านผู้ว่าฯลอนดอนเป็นที่เรียบร้อยแต่จะมีผลกับเฉพาะ พนักงานประจำเท่านั้นไม่รวมลูกจ้างชั่วคราว"

ส่วนแมนฯยูฯทีมร่ำรวยที่สุดในโลกนี่หนักกว่าคอมเมนต์เรื่องความต่างของเงินเดือนระหว่างเดวิด กิลล์และพนักงานแผนกจัดเลี้ยงได้เห็นแสบกว่าโดยพูดประมาณว่าความสามารถของกิลล์นั้นทำเงินกว่า 210 ล้านปอนด์ต่อปี คนแบบนี้หายากและสโมสรก็ไม่ได้ทำผิดกฎเพราะจ่ายเรตค่าจ้างตามราคาขั้นต่ำของตลาดแรงงาน

ความจริงก็คือแมนฯยูฯและอาร์เซนอลไม่ผิดหรอกครับที่ออกมาคอมเมนต์อะไรแบบนี้... ก็แค่ทำให้ผมเสียความรู้สึกนิดหน่อย

ประเด็นเล็กๆเรื่องค่าแรงขั้นต่ำของกลุ่มคนเล็กๆในสโมสรฟุตบอล ได้สะท้อนเป็นกระจกบานใหญ่ของธุรกิจฟุตบอลยุคโลกาภิวัฒน์(Globalisation) ให้ผมได้เห็นและตระหนักถึง "ข้อเสีย" ที่มาพร้อมกับความสนุกสนานในการชมฟุตบอล

ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปมากเหลือเกิน ฟุตบอลลีกเสียความเป็นตัวตนไปไม่เหมือนเก่า

พรีเมียร์ชิพอยากมีนัดที่ 39, ปรากฏการณ์ "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" ของสโมสรยักษ์ใหญ่ที่นับวันยิ่งห่างชั้นกับทีมเล็ก , ความสำคัญของแฟนบอลท้องถิ่นที่นับวันจะถูกลดความสำคัญไปทุกที, การเข้ามาของนักเตะต่างชาติที่บดบังรัศมีแข้งดาวรุ่งในประเทศ ฯลฯ

เกมฟุตบอลที่สวยงามกำลังจะจากโลกใบนี้ไปแล้วครับ...

3 comments:

ธานคับ said...

จริงๆ ผมว่า สโมสรรวยๆ น่าจะเพิ่มเรตขึ้นมาสูงกว่าค่าแรงที่กำหนดสักหน่อย ขนหน้าแข้งไม่ก็ไม่ร่วงไปมากกว่านี้หรอก แต่อย่างว่าครับ ของแบบนี้มันอยู่ที่ใจมากกว่า

เอก อุดมสุข said...

ใช่ครับ กำไรที่ได้ออกจะเยอะ พวกเค้าน่าจะทำให้คุฯภาพชีวิตของแรงงานกลุ่มนี้ดีขึ้นอีกหน่อยด้วยการให้ปรับฐานค่าแรงให้สตาฟฟ์มีกำลังใจทำงานเพื่อองค์กรมากกว่านี้

ผมเองก็ทำงานร้านอาหารไปด้วย รู้เลยละครับว่ามันหนักและเหนื่อยขนาดไหน เลยอยากหยิบประเด็นนี้มาเล่าสู่กันฟังอ่ะครับ

Anonymous said...

ขอบคุณมาก ๆ นะครับ