Wednesday 19 December 2007

ความท้าทายใหม่ ของคาเปลโล่


บทบาท "ผู้จัดการทีม" ที่ผ่านมาของชายชาวอิตาเลียน วัย 61 ปีนามว่า ฟาบิโอ คาเปลโล่ อาจจะดูราบรื่น สวยหรู CV เต็มไปด้วยเกียรติยศ และรางวัลต่างๆ มากมายในการคุมทีมระดับสโมสร "บิ๊กเนม" ชนิดนับไม่ถ้วน
ณ เวลานี้ ด้วย "วัย" และ "วุฒิภาวะ" น่าจะทำให้เจ้าตัว คิดว่า ถึงเวลาเสียทีที่จะ ก้าวขึ้นมารับงานที่ "ท้าทาย" มากกว่าอย่างการคุมทีมชาติอังกฤษ ที่ตอนนี้ถือได้ว่าอยู่ในช่วง "วิกฤต”" หลังจากเพิ่งอกหัก ตกรอบคัดเลือกยูโร 2008
ลำพังหากเรามองนักเตะ "สิงโตคำราม" เป็นรายตัวแล้วจะเห็นได้ชัดเลยว่าเรื่องของ "ฝีเท้า" และ "ความสามารถ" นั้นไม่เป็นรองนักเตะชาติใดในโลกลูกหนัง


แล้วเหตุไฉนทีมทรีไลออนส์จึงไม่เคยไปถึง "ฝั่งฝัน" อย่างชาติอื่นๆ เค้า?...


นักเตะคุณภาพคับแก้วอย่าง เวย์น รูนี่ย์, สตีเฟ่น เจอร์ราร์ด หรือจอห์น เทอร์รี่ ที่ชื่อนั้นเข้าขั้น "เวิลด์- คลาส" แต่มีผลงานที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และเมื่อรวมกันเป็น ทีมทำให้ทีมไปไม่ถึง ฝั่งฝันนั้นอาจจะเป็นปัญหาหลัก ที่อังกฤษประสบพบเจอมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา


อังกฤษจึงต้องการ "ผู้นำ" ที่สามารถปลุก และ ระดมความเชื่อมั่น ของนักเตะ ให้กลับมาลุกขึ้นสู้อีกครั้ง และ "เอฟเอ" ก็เชื่อว่า คาเปลโล่คือคนคนนั้น


บุคลิกที่ดู "แข็งกร้าว" และ "เชื่อมั่นในตัวเอง" แต่เต็มไปด้วยความ "ทุ่มเท" ให้กับทีมนั้นดูช่าง "เหมาะสม" กับตำแหน่งที่เต็มไปด้วยความคาดหวังสูง จากกุนซือทีมชาติอังกฤษได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยๆ คาเปลโล่ก็น่าจะเคยชินกับแรงกดดัน มหาศาลแบบนี้ตั้งแต่สมัยคุม เอซี มิลาน หรือเรอัล มาดริด แล้ว


"ความเด็ดขาด" ในการเลือกตัวนักเตะก็ถือเป็นอีก "จุดแข็ง" ที่คาเปลโล่มี เพราะซูเปอร์สตาร์ชื่อดังอย่าง เดวิด เบ็คแฮม โรนัลโด้ หรืออันโตนิโอ คาสซาโน่ ก็เคยโดนดองเค็มจนแทบหมดอนาคต ที่มาดริดแล้วเมื่อฤดูกาลก่อน


นั่นก็เพราะพวกคาเปลโล่เห็นว่า พวกเค้าเหล่านี้ไม่ สามารถผลิตผลงานในสนามได้ตามต้องการ
จากนี้ไปคงไม่มีนักเตะทีมชาติอังกฤษคนไหนได้รับอภิสิทธิ์ หรือการันตีตำแหน่งในทีมเป็นแน่ และคู่กองกลางแข้ง ทองอย่าง สตีวี่ จี และแฟรงค์ แลมพาร์ด อาจจะมีคนใดคนหนึ่งต้องหลุดออก ไปจากทีมชุดแรก หากไม่สามารถจับคู่ผลิต ผลงานที่ดีสุดให้ทีมออกมาได้ เนื่องจาก "ทีม" และ "ผลการ แข่งขัน" คือสิ่งที่ต้องมาก่อนตามปรัชญาการทำทีมของคาเปลโล่


เรื่องของ "บารมี" และ "ความเป็นผู้นำ" หากเปรียบกับ สตีฟ แม็คคลาเรน ที่ดูเกรงอกเกรงใจนักเตะซีเนียร์ในทีมแล้ว ตรงจุดนี้คาเปลโล่น่าจะได้รับความยำเกรงจากนักเตะมากกว่า เนื่องจาก "ความสำเร็จ" ที่ผ่านๆ มาเป็นเหมือน "ใบเบิกทาง" ขั้นแรก หากจะได้รับการเป็นที่ยอมรับจากลูกน้องในทีม


สตีฟ แม็คคลาเรน นั้นมีแค่ถ้วยชนะเลิศ คาร์ลิ่ง คัพ ในอาชีพกุนซือ ขณะที่ลูกน้องในทีมอย่าง จอห์น เทอร์รี่ นั้นได้แชมป์พรีเมียร์ชิพมา 2 สมัย ขณะที่สตีเฟ่น เจอร์ราร์ด ก็เป็นแชมป์ยุโรปกับลิเวอร์พูล


"บารมี" ของนักเตะในเคสของเทอร์รี่ และเจอร์ราร์ด ที่ผมยกตัวมาให้เห็นนี้ มันเลยดูค่อนข้างข่ม "บารมี" ผู้เป็นกุนซืออยู่ไม่น้อยนะครับ


เรื่อง "ปลีกย่อย" เล็กๆ น้อยๆ แบบนี้อาจดูเหมือนไม่สำคัญ แต่โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่ามันมีผลกับการ "คุม" ลูกน้องในทีมตามหลักจิตวิทยาของมนุษย์เราที่ทั่วไปแล้วจะยกย่อง และให้เกียรติผู้มีความรู้ หรือประสบความสำเร็จมากกว่าเรานั่นเอง


และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อก็คือ "ศาสตร์การวางเกม" ของคาเปลโล่นั้นไม่เป็นรองกุนซือคนใดในโลก ลูกหนังยุคนี้แล้ว และหากนักเตะอังกฤษสามารถ "เรียนรู้" และ "ซึมซับ" ความรู้ตรงนี้จากคาเปลโล่ได้มากที่สุดแล้ว
ค่าเหนื่อย 6 ล้านปอนด์ต่อปีไม่ถือว่าแพงไป และ ทีมชาติอังกฤษยุคใหม่จะประสบความสำเร็จไกล กว่าที่ทุกคนคิดแน่นอนครับ !!


ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์คิกออฟ 3072

No comments: